นพเก้า ที่สุดแห่งอัญมณีเสริมมงคล
สำหรับในประเทศไทยนั้นคาดว่าความเชื่อในพลังของอัญมณีได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย โดยอัญมณีซึ่งจัดว่าเป็นสิริมงคลสูงสุดในบรรดาอัญมณีทั้งปวงในตำราความเชื่อของไทยนั้นมีอยู่ด้วยกัน 9 ชนิด ซึ่งรู้จักกันในนามของ ‘นพเก้า’ หรือ ‘นพรัตน์’ โดยเชื่อถือว่าอัญมณีแต่ละชนิดเป็นสัญลักษณ์แทนดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ดวงในระบบสุริยะ ซึ่งมีเทพดูแล มีคุณ สมบัติในทางสิริมงคล ป้องกันภยันตรายต่างๆ หากผู้ใดมีไว้ในครอบครองก็เท่ากับมีมงคลไว้ติดตัวจะเจริญรุ่งเรือง (สมัยก่อนนับดาวพลูโตเป็นสมาชิกระบบสุริยะ)
ทั้งยังมีการนำชื่ออัญมณีและคุณค่าของนพเก้ามีสีสันที่โดดเด่นเฉพาะตัวมาเรียงร้อยเป็นคำกลอนให้ท่องจำได้ง่าย ดังเราคุ้นเคยจากตำราเรียนสมัยที่ยังเป็นเด็กนักเรียนดังนี้:
เพชรดี มณีแดง (ทับทิม) เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสด บุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ (ไพลิน) มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์
นพเก้า หรือ นพรัตน์ หรือเรียกอีกอย่างว่า แก้วเก้าเนาวรัตน์ ถือเป็นสัญลักษณ์ของดาวนพเคราะห์ เป็นของสูงที่จะนำสิริมงคลมาสู่ตัวผู้สวมใส่ให้เจริญรุ่งเรืองด้วยประการทั้งปวง เลิศด้วยความดีงามทั้งปวง จึงถือได้ว่าถ้าผู้ใดมีไว้ครบทั้งหมดก็จะเป็นสิริมงคลอย่างสูงสุด
โดยมีความหมายอันเป็นมงคล ดังนี้:
- เพชร คือ เป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ มีชัยแก่ศัตรู ร่ำรวย
- มณี (ทับทิม) คือ ความสำเร็จ ลาภยศ อายุยืน
- มรกต คือ ความศรัทธา กล้าหาญ ป้องกันภัยอันตรายทั้งปวง
- บุษราคัม คือ มีเสน่ห์เป็นที่รัก
- โกเมน คือ สุขภาพดี อายุยืนนาน
- นิลกาฬ (ไพลิน) คือ ความรัก ความเมตตากรุณา ความร่ำรวย
- มุกดาหาร คือ ความบริสุทธิ์ ร่มเย็น และชนะแก่ศัตรู
- เพทาย คือ ความร่ำรวย ชนะคดีความ
- ไพฑูรย์ (ตาแมว) คือ เทวดาคุ้มครอง ป้องกันฟืนไฟ